วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แพร่งภูธร ชุมชนนี้มีชีวิต



แผนที่แสดงตำแหน่งแพร่งภูธรและบริเวณใกล้เคียง
      
            แพร่งภูธร ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงบริเวณถนนอัษฎางค์ จรดกับถนนตะนาว ซึ่งจะเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่บางคนเรียกติดปากกันมาว่า "ทางสามแพร่ง" แต่คำว่าทางสามแพร่งที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นทางสามแพร่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างที่ทุกคนรู้สึกกัน หากแต่ทางสามแพร่งตรงถนนสองสายนี้เป็นถนนสามแพร่งที่แต่ละแพร่งนั้นต่างก็ เคยเป็นที่ประทับของเจ้านายยุคกลางของสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยกันทั้งนั้น
            มีถนนอยู่แพร่งหนึ่งที่หัวถนนตั้งอยู่เยื้องกับร้านขายขนมไทยชื่อดัง อย่างร้าน ก.พาณิช นั้นเราเรียกกันว่า "แพร่งภูธร" ซึ่งแพร่งภูธรที่เรามองเห็นเป็นตรอกสั้นๆ นั้น แต่เดิมเคยเป็นวังริมสะพานช้างโรงสีเหนือ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันสั้นๆ ว่าวังเหนือ เป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาตลับ (ต้นตระกูลทวีวงศ์) กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์นั้น ทรงเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงได้รับพระยศสูงสุดเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล (มหาดไทย) ว่าราชการมาจนถึงพระชนมายุ 42 ชันษาก็ทรงสิ้นพระชนม์ หลังจาก กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน ทายาทของพระองค์ ก็ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว จากนั้นจึงพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า ถนนแพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมนั่นเอง


 
บริเวณภายในชุมชนแพร่งภูธร
          ชุมชนสามแพร่งนี้ถือเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 โดยความเจริญนั้นเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเสาชิงช้าก่อนเพราะมีการตัดถนนสาย แรกๆ คือถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครขึ้น อีกทั้งยังมีการสร้างตึกแถวสไตล์ตะวันตกให้คนมาเช่าทำการค้าขาย ซึ่งก็มีทั้งชาวจีน ชาวเปอร์เซีย และชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกัน ทำให้ย่านเสาชิงช้าในขณะนั้นกลายเป็นย่านการค้าอันทันสมัย และความเจริญนี้ก็ได้ขยายไปถึงย่านสามแพร่งที่อยู่ใกล้เคียงต่อมา
          
            นอกจากนั้นแล้วที่สามแพร่งนี้มีความน่าสนใจหลายๆอย่างด้วยกัน เช่นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากตลาดน้ำมาเป็นตลาดบก โดยแต่เดิมนั้นคนจะทำมาค้าขายกันทางเรือในคลองคูเมืองเดิม แต่เมื่อมีถนนตัดผ่าน การค้าเริ่มเปลี่ยนจากในคลองมาเป็นริมถนน บริเวณชุมชนสามแพร่งนี้จึงเป็นชุมชนแรกๆที่เปลี่ยนจากชุมชนตลาดน้ำมาเป็น ชุมชนตลาดบก กลายเป็นย่านการค้า มีข้าวของจากต่างประเทศมาขาย และอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือบริเวณนี้ก็ยังมีตลาดสดแห่งแรกอีกด้วย คือตลาดศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่บริเวณใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเหลือแล้ว

           ชุมชนแพร่งภูธรแห่งนี้ส่วนตัวผมเองไม่เคยได้รู้จักมาก่อน จนกระทั่งได้เรียนวิชา Delination ซึ่งอาจรย์ได้พาออกมาวาดภาพนอกสถานนี้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับชุมชนแห่งนี้ หลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมภายในชุมชนและได้มีการนำภาพที่พวกผมได้ไป Deline นำมาจัดแสดงในแกลลอรี่ นั่นจึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ผมได้เข้ามาสัมผัสกับชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง

ภาพตอนที่มาร่วมกันจัดแกลลอรี่

            และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาผมก็ได้มีโอกาสไปที่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้งเพื่อมาศึกษาและนำข้อมูลไปทำงาน จากการที่ผมได้สัมผัสกับพื้นที่ชุมชนแพร่งภูธรแห่งนี้มา ผมมีความรู้สึกได้ถึงความเป็นกันเองของผู้คนในชุมชน บรรยากาศสบายๆที่ค่อนข้างหาได้ยากในเมืองกรุง เมื่อมองจากถนนด้านนอกเข้ามาภายในชุมชนจะมองเห็นเป็นเหมือนตรอกเล็กๆ ซึ่งมองผ่านๆจะรู้สึกเหมือนข้างในนั้นไม่มีอะไรและรู้สึกเหมือนเป็นชุมชนแคบๆ แต่เมื่อได้ลองเดินเข้าไปจะพบกับ Space ที่มีความน่าสนใจและหาได้ยากมากเมื่อเทียบกับชุมชนต่างๆที่มีในกรุงเทพฯ เพราะว่าพอเราได้ลองเดินเข้ามาในตรอกเล็กๆที่เราเห็นก็จะพบกับลานกิจกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลางของชุมชน

สุขุมาลอนามัย

บริเวณลานกิจกรรมกลางชุมชน
        ซึ่งลานกิจกรรมตรงนี้จะมีพื้นที่ติดกับสุขุมาลอนามัยซึ่งเป็นสถานนีอนามัยแห่งแรกในกรุงเทพฯ โดยพื้นที่ลานกิจกรรมนี้เป็นที่ดินที่มี 2 เจ้าของคือ ด้านที่ติดกับสุขุมาลอนามัยจะเป็นของสภากาชาด ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งลานกิจกรรมแห่งนี้เป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางที่คนในชุมชนมีไว้พักผ่อน ไว้จัดกิจกรรมต่างๆของชุมชนกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยก็ว่าได้


        พื้นที่บริเวณลานกิจกรรมนี้ช่วงวันเวลาธรรมดาก็จะมีร้านอาหารมาตั้งโต๊ะตั้งเก้าอี้ขายอาหารกัน หากได้ลองไปนั่งทานอาหาร หรือนั่งพักผ่อนบริเวณนั้น จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราได้ไปนั่งปิกนิกภายในสวนสาธารณะ ท่ามกลางธรรมชาติเลยก็ว่าได้

         ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมภายในชุมชนแพร่งภูธรนั้นจากที่ผมเคยได้ลองหาข้อมูลมาบ้างก็ว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวชิโนโปรตุกิสบ้าง แต่เมื่อได้สอบถามกับผู้ที่รู้จริงนั้นก็ได้คำตอบมาว่า จริงๆแล้วรูปแบบสถาปัตยกรรมของชุมชนแพร่งภูธรนั้นจริงๆแล้วเป็นแบบโคโรเนียล ซึ่งรูปแบบนี้ก็มาพร้อมกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งชุมชนแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นพอดีเลยได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมรูปแบบนั้นมา

รูปแบบอาคารภายในชุมชนแพร่งภูธร
            ชุมชนแพร่งภูธรถือได้ว่าเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ แต่สำหรับผมแล้วการอนุรักษ์ชุมชนและรูปแบบของสถาปัตยกรรมนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องแช่แข็งหรือต้องเก็บไว้ให้เหมือนเดิมทุกอย่าง หากแต่รูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะเกิดจากวิถีชีวิตและการใช้งาน เช่นอาจจะมีการเติมผ้าใบกันสาดเพิ่มขึ้นได้เนื่องมาจากการที่ถูกฝนสาดแต่ในการเพิ่มเติมอะไรเข้าไปก็ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทโดยรอบไม่ให้ดูแย่จนเกินไป แต่ใจความของการอนุรักษ์จริงๆแล้วคือ เราควรรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่และรูปแบบของชุมชนไว้

             สำหรับวิถีชีวิตของคนภายในชุมชนแพร่งภูธรนั้นส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าซึ่งบริเวณชุมชนแห่งนี้มีร้านค้าร้านอาหารที่มีชื่อเสียงและมีรสชาติอร่อยตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และสภาพของผู้คนภายในชุมชนนั้นผู้คนในชุมชนแพร่งภูธรมีความเป็นกันเองและมีอัธยาศัยที่ดี เป็นชุมชนที่มีการอยู่ร่วมกันช่วยกันดูแล โดยจะมีประธานชุมชนคนปัจจุบันชื่อพี่ตุ๋ย ซึ่งเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวสมองหมูเป็นคนดูแลอยู่ ส่วนลักษณะของร้านค้าส่วนใหญ่นั้นจะใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านเปิดเป็นที่ทำมาหากิน และใช้พื้นที่ชั้นบนในการพักอาศัยซึ่งเป็นลักษณะที่ผมรู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่เป็นย่านการค้าเลยก็ว่าได้

ลักษณะการค้าขายของคนภายในชุมชน
            จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าชุมชนแห่งนี้มีร้านค้าร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอยู่จำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนที่สนใจ และนักชิมทั่วทุกสารทิศอยากมาลิ้มรส อาทิเช่น
ร้านณัฐพร ไอศกรีม ซึ่งเป็นร้านไอศกรีมกะทิโบราณที่มีชื่อดังมากร้านหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองเคยได้มีโอกาสลิ้มรสไอศกรีมของร้านชื่อดังแห่งนี้ อีกทั้งยังมีก๋วยเตี๋ยวมันสมองหมูของพี่ตุ๋ย หรือจะเป็นร้านลูกชิ้นหมูปิ้งที่มีรสชาติอร่อย น้ำจิ้มรสเด็ด รวมทั้งมีแม่ค้าที่มีหน้าตาน่ารักเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าอีกด้วย

             สุดท้ายนี้จากการที่ผมได้มีโอกาสลงไปสัมผัสพื้นที่ของชุมชนแพร่งภูธรแห่งนี้แล้วนั้น ทำให้ผมเกิดความรู้สึกภายในใจตัวเองลึกๆว่าอยากให้มีชุมชนแบบนี้อยู่ในกรุงเทพฯเยอะ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่ไม่หวือหวา แต่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความเป็นกันเอง มีพื้นที่ทำมาหากินที่น่าอิจฉา มีรูปแบบสถาปัตยกรรมและรูปแบบชุมชนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็คือ สเน่ห์ของชุมชนแพร่งภูธร นั่นเอง


          หากจะให้ผมแนะนำพื้นที่ท่องเที่ยว ที่พักผ่อน หรือร้านอาหารเลิศรส ที่เต็มไปด้วยความเรียบง่าย เป็นกันเองและเต็มไปด้วยสเน่ห์ ผมคงแนะนำ แพร่งภูธร ได้อย่างไม่ลังเลใจเลยทีเดียว

ภาพถ่ายร่วมกับป้ายแพร่งภูธร

      หากผมสามารถนิยามอะไรอย่างหนึ่งกับชุมชนแพร่งภูธรได้ ผมอยากจะบอกว่า

       
           ..."แพร่งภูธร พื้นที่นี้มีชีวิต"...







รถโบราณหน้าอู่วิเชียร


ป้ายร้านค้าต่างๆในชุมชน
           
รูปแบบสถาปัตยกรรมภายในชุมชน


บริเวณซอยนี้มองออกไปจะเห็นกระทรวงกลาโหม

บริเวณหน้าโรงแรม เดอะ ภูธร ของพี่เจี๊ยบ ดิเรก

ลักษณะร้านค้าโชว์ห่วยภายในชุมชน

เครื่องปรับอากาศแบบเก่าที่ยังมีการใช้งานอยู่
ลักษณะชุมชน ที่มีการใช้งานพื้นที่ชั้นล่างในการค้าขาย

*** Special Thanks

- ขอขอบคุณ อ.ไก่ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสลงไปสัมผัสและทราบซึ้งกับชุมชนแพร่งภูธรอีกครั้ง
- ขอขอบคุณ อ.กรินทร์ ที่ให้คำแนะนำต่างๆ และทำให้ผมได้รูจักกับชุมชนแพร่งภูธรแห่งนี้
- ขอขอบคุณ พี่เจี๊ยบ ดิเรก เจ้าของโรงแรม เดอะ ภูธร อีกทั้งยังเป็นรุ่นพี่คณะ สถาปัตย์ลาดกระบังของผม ที่ได้ให้สัมภาษณ์ และได้ให้คำแนะนำ ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับชุมชนแพร่งภูธรแห่งนี้
- สุดท้ายนี้ขอขอบคุณชาวบ้านชุมชนแพร่งภูธร และชุมชนแพร่งภูธรที่ได้ให้ความรู้และความประทับใจแก่ผม ขอบคุณมากครับ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น